รื้อฝายกั้นน้ำเค็ม

AD WEB NET 2

 

tp-รื้อฝาย1

เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นในตำบลนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำดำเนินสะดวก กรมชลประทาน และปลัดอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เดินทางมาดูพื้นที่บริเวณ ที่ได้มีการทำฝายกั้นน้ำเค็มเอาไว้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากทางชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นได้เข้าร้องเรียนว่า การที่ชาวบ้านตำบลโรงเข้ได้มาทำฝายในพื้นที่ตำบลนางตะเคียนซึ่งติดต่อกับตำบลโรงเข้นั้น ทำให้น้ำในคลองคันพนังที่อยู่ในฝั่งตำบลนางคะเคียนไม่ระบายถ่ายเท เกิดมีวัชพืชลอยมาทับถมหน้าฝายจนดูสกปรก และหวั่นว่าจะทำให้น้ำเสีย  ในครั้งนี้ทางนายไฝ ปิ่นแก้ว กำนันตำบลโรงเข้ ผู้ที่ได้ริเริ่มทำฝายก็มารับฟังด้วย โดยทางชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นนางตะเคียนบอกว่า การที่นายไฝ ปิ่นแก้ว และชาวบ้านตำบลโรงเข้ เข้ามาทำฝายไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับชาวบ้านในตำบลนางตะเคียนก่อน ซึ่งวันแรกที่ได้ทำก็เหมือนว่าจะดำเนินการไม่ได้ แต่สุดท้ายก็สามารถคุยกันได้ โดยให้ทำหนังสือเป็นข้อตกลงกันไว้ 3 ข้อ คือ 1.ผู้ทำฝายจะต้องดูแลฝายให้อยู่ในสภาพดี สามารถป้องกันน้ำเค็มได้ 2.จะดูแลเรื่องความสะอาดไม่ให้มีวัสดุ สวะ ขยะ ลอยมาติดทับถม และ3. หากฝายที่ทำเป็นอุปสรรคต่อกิจการชลประทาน หรือมีข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ตำบลนางตะเคียน ผู้ทำฝายต้องรื้อออกทันที

ซึ่งการสร้างฝายนั้น นายไฝบอกว่า ได้มีการโทรศัพท์ประสานกับทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก กรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลคลองแล้ว แต่ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าจะขอทำฝาย ไม่ได้ประสานกับชาวบ้าน

ด้านนายนรุตม์ เดชศิริ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่1โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก เจ้าหน้าที่ตัวแทนที่เดินทางมารับเรื่องบอกว่า นายไฝได้มีการประสานไปจริง โดยการโทรศัพท์ ซึ่งทางโครงการคิดว่า ฝายที่จะทำเป็นพื้นที่เดิม จึงให้ทำได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ไม่น่าจะเกิดปัญหา ไม่คิดว่าจะทำในพื้นที่ของตำบลอื่น ซึ่งการที่ชาวบ้านจะทำฝายกั้นน้ำเค็มนั้น ก็สามารถประสานมาที่กรมชลประทานได้ แต่ก่อนทำทางชาวบ้านจะต้องเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่ที่จะทำให้ยินยอมก่อน ทางชลประทานจึงจะดำเนินการได้ โดยในปีที่ผ่านมา ก็มีเรื่องประสานเข้าไปว่าขอให้ชลประทานช่วยทำประตูปิดเปิดน้ำแบบกึ่งถาวรใน 4 จุด ในเขตบ้านแพ้ว แต่เนื่องจากมีชาวบ้านในจุดที่จะทำประตูไม่ยินยอม ชลประทานจึงทำให้ไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะทำฝายหรือประตูเปิดปิดเพื่อกั้นน้ำ ต้องมีการคุยกันกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ยินยอมเสียก่อน

ส่วนบทสรุปในวันนี้ทางด้านนายกฤต อินธพรรณ ปลัดอำเภอเมืองสมุทรสงครามฝ่ายความมั่นคง ได้ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ชาวบ้านทั้งสองพื้นที่ได้ตกลงกันไว้ คือต้องรื้อฝายออก เนื่องจากทำให้ชาวบ้านอีกฝั่งหนึ่งได้รับผลกระทบ และให้ระยะเวลาภายใน 15 วัน และหลังจากนั้น ชาวบ้านทั้งสองพื้นที่ตั้งใจว่าจะเปิดเวทีประชาคมร่วมกัน เพื่อหาทางออกในเรื่องการใช้น้ำ เพราะไม่อย่างนั้น ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะตอนนี้เรื่องน้ำเค็มจะส่งผลกระทบมากกับภาคเกษตรใน อ.บ้านแพ้ว

 

tp-รื้อฝาย2 tp-รื้อฝาย3

เอเซีย ภาพ/ พรเพ็ญ / ข่าว