ลงพื้นที่ตรวจระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง

AD WEB CCTV 14-6-60

 

บิ๊กฉัตร

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอดิศร  พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อตรวจติดตามการปฏิบัติงานระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ  ก่อนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล  ของสหภาพยุโรป จะเดินทางมาตรวจประเมินในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 60 นี้  เพื่อสร้างความมั่นใจให้อุตสาหกรรมประมงไทยปราศจากการทำประมง IUU ทั้งระบบ โดยในโอกาสนี้คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้เดินทางมาที่องค์การสะพานปลาสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อรับฟังการสรุประบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำจากเรือประมงไทย และตรวจการปฏิบัติงานการควบคุมการเข้าออกของเรือประมงพร้อมตรวจสอบการดำเนินงานทางระบบสารสนเทศ จากนั้นได้เดินทางไปที่ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบการขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเรือประมงพีรพัฒน์ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าประมงให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลเพื่อครองฐานการตลาดไว้ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ ของประเทศไทยเพื่อไม่ให้มีสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงไม่ให้มีการส่งออกสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงแบบ IUU อย่างเด็ดขาด  ซึ่งได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ  ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย  และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย  ได้มีการจัดวางระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิต โดยกำหนดให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำต้องจดบันทึกการทำการประมง ตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิดสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ และเครื่องมือการทำประมง เมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ  กำหนดให้ท่าเทียบเรือต้องคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด กรณีขนส่งไปขายที่ตลาดกลางโดยยังไม่มีการคัดแยกและชั่งน้ำหนัก ต้องชั่งน้ำหนักโดยประมาณของสัตว์น้ำที่ขนส่ง  และเมื่อถึงตลาดกลางต้องคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด  และเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำ ผู้ซื้อผู้ขายต้องกรอกข้อมูลชนิดสัตว์น้ำและปริมาณที่ซื้อขายในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต  ส่วนสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการนำเข้าต้องขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ โดยด่านตรวจสัตว์น้ำของกรมประมงจะดำเนินการตรวจสอบสัตว์น้ำและเอกสาร เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำไม่ได้มาจากการทำการประมง ที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการตรวจสอบอื่นๆ ทั้งระบบ อาทิ เพิ่มการตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า – แจ้งออกให้​ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า ควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำและลูกเรือกลางทะเล   สร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิตให้ความร่วมมือ  และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด  และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทยได้มีการนำระบบเครื่องชั่ง Smart scale ที่สามารถส่งข้อมูลชนิดและน้ำหนักที่ชั่งเข้าระบบ ตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย โดยได้มีการนำร่องใช้กับท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลา ทำให้ข้อมูลชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำมีความโปร่งใสและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการปฏิบัติงานของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงในครั้งนี้  เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล   ของสหภาพยุโรป  จะเดินทางมาตรวจสอบในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 60 ซึ่งขณะนี้ไทยได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่

บิ๊กฉัตร2 บิ๊กฉัตร3


สุเมธ /ภาพ/ข่าว