นายกประมงไม่เชื่อแรงงานเป็นเหตุยกเลิกGSP

WEB-02

 

 

tp-ประมง1

 

จากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP  กับสินค้าไทยที่มีมากถึง 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 39,650 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า “ไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล” ซึ่งสินค้าไทยที่อยู่ในรายการจะถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่าปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมด 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ์ โดยใช้สิทธิ์แค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นโดยผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP จะทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐ ซึ่งจากเดิมไม่ต้องเสีย โดยจะต้องเสียภาษีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-5 ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท ซึ่งรายการสินค้าหนึ่งในนั้นก็มีอาหารทะเลอยู่ด้วย

ด้านนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร มองว่า เรื่องการตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการประมงไทย เพราะทุกวันนี้ ของทะเลที่หาได้แทบจะไม่ได้ส่งออกต่างประเทศเลย แค่ใช้ในประเทศก็ไม่พอแล้ว แต่น่าจะส่งผลไปถึงผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลส่งออกมากกว่า แต่เรื่องที่ยังรู้สึกค้านในใจก็คือ เหตุผลในการตัดสิทธิ์ครั้งนี้ที่ทางสหรัฐฯอ้างว่า มาจากที่ไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล ซึ่งตนเองคิดว่าเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา นานชาติที่จับตาดูเรื่องนี้ก็ตัดสินมาแล้วว่าไทยให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ดีขึ้น มีการปรับลำดับในการดูแลเรื่องแรงงานให้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทียร์ หรือ IUU ไทยก็อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น แล้วตอนนี้จะมาบอกว่า ตัดสิทธิ์เพราะล้มเหลวในเรื่องแรงงานได้อย่างไร ตนคิดว่าเป็นเพราะเรื่องที่ไทย ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัวในภาคเกษตรมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทางสหรัฐฯได้ทักท้วงมาแล้ว แต่ไทยก็ยังแบนสาร 3 ตัวนี้ ซึ่งเหตุผลที่ไทยไม่เอาสารเคมี 3 ตัวมาใช้นั้น ทางด้านนายกประมงมองว่า มันก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะสารพิษเหล่านั้นเป็นอันตราย และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่ใช่ในภาคเกษตรบนพื้นดินอย่างเดียว แต่มันจะถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ และเข้าไปในสัตว์ทะเล และกลับมาที่ผู้บริโภค

และการที่สหรัฐฯใช้เหตุผลเรื่องแรงงานมาเป็นเหตุผล ตนก็หวั่นว่า จะสร้างปัญหาให้กับภาคประมงอีกแน่นอน และยังไม่รู้ว่าภาคประมงไทยจะถูกกดดันอะไรอีกบ้างกับเรื่องแรงงานหลังจากนี้

 

 

 

tp-ประมง2 tp-ประมง3 tp-ประมง4

เอเซีย / ภาพ  พรเพ็ญ / ข่าว