หวั่น พ.ร.ก.ต่างด้าว

AD WEB NET 20-5-60

กล้วยไม้1

นายมิตร ปานเจริญ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด ได้เปิดใจกับผู้สื่อข่าวถึงความเดือดร้อนของชาวสวนกล้วยไม้ ที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด จำนวนเกือบ 1,000 ราย หลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมาว่า พระราชกำหนดดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทุกประเภทที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว โดยในส่วนของชาวสวนกล้วยไม้นั้น ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสไม่แพ้ภาคประมง เพราะทุกวันนี้เกษตรกรสวนกล้วยไม้จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในสวน เนื่องจากกำลังคนที่เป็นแรงงานไทยไม่เพียงพอต่อการทำงาน และคนไทยไม่นิยมทำงานในสวน เพราะมีความสกปรกเลอะเทอะเปื้อนดิน

ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่แล้วนั้น ทางสมาชิกของสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด ก็ได้มีการประชุมร่วมกัน และเห็นชอบให้ตัวแทนของสหกรณ์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องผลกระทบของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 กับภาคการเกษตร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

กล้วยไม้2

ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด กล่าวต่อไปอีกว่า ทางผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่นั้น อยากจะวิงวอนขอภาครัฐให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ออกไปก่อน เพื่อต่อระยะเวลาการหายใจให้แก่เกษตรกรและจะได้มีเวลาดำเนินการให้ถูกต้อง อีกประการหนึ่งส่วนตัวมองว่า เนื้อหาในกฎหมายดังกล่าว กระทบกับผู้ประกอบการผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ การต้องขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัท จำกัด หรือ บริษัทมหาชนเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงผู้ประกอบการรายเล็กปฏิบัติตามได้ยาก ขณะที่อัตราค่าธรรมเนียมการได้มาซึ่งแรงงานต่างด้าว 1 คน จะตกอยู่ที่หัวละประมาณ 50,000 บาท และการต่อใบอนุญาตครั้งละ 20,000 บาท ส่วนบทลงโทษปรับผู้ฝ่าฝืนมีอัตราสูงตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาทต่อต่างด้าว 1 คน ซึ่งการออกบทบัญญัติในพระราชกำหนดฉบับนี้ ไม่ได้คำนึงถึงชาวสวนเกษตรกร และผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือพ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยทำงานและไม่มีกำไรจากการทำอาชีพมากมายอะไรนัก หากโดนปรับทีก็ไม่เหลืออะไรอีก และอาจจะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับด้วย

กล้วยไม้3

นายมิตร ปานเจริญ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า หากทางภาครัฐไม่มีการพิจารณาทบทวนแก้ไขบทบัญญัตินี้ใหม่ ก็เชื่อได้ว่า จะทำให้อาชีพการเพาะปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่นำรายได้เข้าประเทศไทยต่อปีเป็นจำนวนมาก และอาชีพทางการเกษตรอีกมากมายหลายชนิดต้องเลิกและสูญหายไป อีกทั้งยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงผู้ที่ทำอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับกล้วยไม้ด้วย เช่น ผู้ขายกล้วยไม้ทั้งรายเล็กรายใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายกล้วยไม้ในตลาด หรือแม้แต่อาชีพจัดงานตามสถานที่ต่างๆ ที่ต้องใช้กล้วยไม้เป็นส่วนประกอบ ก็ต้องจบลงด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นทางสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด ที่มีสมาชิกอยู่ในจังหวัดต่างๆ รวมกันเกือบ 1,000 รายนั้น จึงอยากจะขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาบทบัญญัติฯ ใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ใหม่ และควรให้มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคเกษตรกร และภาคอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวกับปัญหาของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อให้อาชีพที่สำคัญของไทยเรายังคงเดินหน้าต่อไปได้../     ทำข่าว30 มิ.ย.60                           สุเมธ/ภาพ/ข่าว