ช่วยแรงงานต่างด้าว

AD WEB NET แก้ไข 14-6-60

 

ต่างด้าว1

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รองผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ LPN และเครือข่าย ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร ตำรวจภูธร สภ.บางโทรัด ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) จัดหางานจังหวัด แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาจำนวน 118 คน โดยพักอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือนำแรงงานกลุ่มนี้ออกมาแล้ว ก็ได้นำมาคัดแยก คัดกรองทางเอกสารเบื้องต้นที่บริเวณลานวัดใกล้เคียงก่อน จากนั้นก็จะได้นำไปทำการสอบปากคำ และตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดโดยทีมสหวิชาชีพ ที่ศูนย์บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร

ต่างด้าว2

สำหรับการเข้าช่วยเหลือในครั้งนี้ นายโคโคนาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการเครือข่ายชาวพม่าที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย หรือ AAC & SCPM โดยเป็นจิตอาสาร่วมกับเครือข่ายของมูลนิธิ LPN ได้บอกว่า สืบเนื่องจากมีนายหน้าในประเทศเมียนมา ได้ทยอยพากลุ่มแรงงานมาจากประเทศต้นทางตั้งแต่เมื่อประมาณ 3 – 4 เดือนที่แล้ว โดยมีการประสานกับนายหน้าในประเทศไทย ว่าจะพาแรงงานทั้ง 118 คนนี้ เข้ามาตามระบบ MOU และมีนายจ้างรอรับเข้าทำงานในประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งแรงงานทั้งหมดก็ได้มีการทำพาสปอร์ตอย่างถูกต้อง และเดินทางเข้ามาทางด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่มีการประทับตาม (วีซ่า) เพราะแรงงานจะผ่านด่านด้วยวิธีการเข้ามาซื้อสินค้าที่ด่าน แล้วก็มาขึ้นรถที่มีคนไปรอรับเพื่อเข้ามาทำงานในไทย แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงในประเทศไทยกลับมีแรงงานเพียงแค่ 58 คน ที่เป็นแรงงานที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกในจำนวน 118 คนเท่านั้นที่ได้ทำงาน ส่วนที่เหลืออีก 60 คน ยังไม่มีงานทำ และทางผู้ที่พามาก็บอกให้มาเช่าห้องอยู่รวมกัน ไม่ให้ออกไปไหน ถ้าออกไปจะถูกจับกุมได้ อีกทั้งยังได้มีการยึดพาสปอร์ตไปด้วย มีแค่กระดาษถ่ายเอกสารให้ทุกคนถือไว้เท่านั้น จึงไม่มีใครกล้าไปไหนไกล จะออกมาได้ก็เพียงแค่แถวๆ หน้าวัดเพื่อมาหาอะไรกินแล้วก็กลับเข้าห้องเหมือนเดิม โดยแรงงานทุกคนนั้นได้รองานมานานหลายเดือน เมื่อเห็นว่าอาจจะไม่ได้งานทำและต้องเสียเงินทั้งค่ากิน ค่าที่พัก อีกทั้งทางบ้านที่ประเทศต้นทางก็มีหนี้สินที่ต้องชำระ เพราะกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายให้กับนายหน้าในการทำพาสปอร์ตคนละ 15,000 – 20,000 บาท เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงได้มีการส่งข่าวแจ้งไปยังที่บ้านในประเทศเมียนมา เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งทางครอบครัวก็ได้มีการประสานมาที่มูลนิธิ LPN รวมถึงยังมีแรงงานต่างด้าว 5 คน หนีออกจากที่พักอาศัยไปขอความช่วยเหลือจาก LPN ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นทาง LPN จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวทั้ง 118 คนออกมา

ต่างด้าว3

ทั้งนี้จากที่ได้สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็บอกว่า เบื้องต้นจะต้องมีการคัดแยกแรงงานทั้งหมดก่อน โดยในส่วนของแรงงาน 58 คน ที่มีงานทำแล้วนั้น ก็จะให้นายจ้างนำไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงของการผ่อนผันตาม พรก.ต่างด้าวฉบับใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 60 คน ที่บอกว่ามีพาสปอร์ตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะต้องมีการตั้งทีมสหวิชาชีพเข้ามาสอบสวนและตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ มีการสวมพาสปอร์ตปลอมบ้างหรือไม่ และต้องดูว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อในเล่มพาสปอร์ตที่มีคนนำมาส่งให้หรือไม่ จากนั้นก็จะต้องมีการประชุมหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรกับแรงงานทั้งหมดที่เหลืออยู่ เพราะแรงงานที่เหลือนั้นไม่อยากที่จะต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทางอีก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก สำหรับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ แต่ถ้าจะเข้ามาทำงานใหม่ก็ต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือตาม MOU เท่านั้น ขณะที่ในส่วนของกระบวนการนำเข้าและหลอกลวงแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็จะต้องทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและต้องตรวจสอบด้วยว่า มีคนไทยร่วมอยู่ด้วยหรือไม่../

สุเมธ/ภาพ/ข่าว