กรมศิลป์ไร้งบ ปล่อยเรือโบราณจมน้ำ

AD WEBSITE CABLE TV แก้ไข 8-3-60

tp-เรือ1

หลังจากที่มีชาวบ้านและผู้ที่เดินทางเข้าไปศึกษาดูแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์  เรืออาหรับโบราณอายุกว่า 1,400 ปี ที่ขุดค้นพบเมื่อปี 2556 ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในห้วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา และมีเสียงร้องเรียนมาว่า แหล่งเรือโบราณดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ขาดการเอาใจใส่ดูแลจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมศิลปากร นั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ผู้สื่อข่าวได้ลงไปติดตามดูสภาพของแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ พบว่า ปัจจุบันมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ แทบไม่เหลือร่องรอยของแหล่งที่มีการขุดค้นพบเรือโบราณอาหรับอีกเลย เห็นเพียงแค่ห้องบรรยาย กับห้องน้ำที่มีน้ำท่วมเกือบถึงหลังคา เสาโครงเหล็กที่เคยถูกปลูกสร้างไว้ใช้สำหรับขึงแสลนกันแดดกันฝนเมื่อตอนขุดค้นเจอเรือใหม่ๆ และเสากระโดงเรือ 2 เสา ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สามารถนำขึ้นมาได้เป็นส่วนแรกที่ยังคงแช่น้ำในบ่อปูนเพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ไม่ให้แตกชำรุด ขณะที่เนื้อไม้อื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเรือและยังไม่ได้นำขึ้นมานั้น ในอดีตเคยมีการทำเป็นบ่อเพื่อขุดเจาะลงไป และเมื่อมีคนมาศึกษาดูเรือโบราณก็จะเห็นชิ้นส่วนจมอยู่กับเนื้อดิน แต่ปัจจุบันกลับจมอยู่ใต้น้ำจนมองไม่เห็นอะไรอีกแล้ว ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ ดินก็จะไหลลงมากองทับจนอาจจะต้องเริ่มต้นขุดกันใหม่ นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องไหโบราณ ห้วยชาม เมล็ดข้าว และเชือกที่พบอยู่ในเรืออาหรับโบราณ ก็ถูกนำมาเก็บไว้ที่อาคารเช่าไม่ห่างกันนัก แต่มีการปิดประตูไว้อย่างมิดชิด ไม่มีใครสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานที่คอยมาเปลี่ยนน้ำและดูสภาพสิ่งของเท่านั้น

นางพนม และนายสุรินทร์ ศรีงามดี เจ้าของที่ดิน ซึ่งได้ขุดพบเรือโบราณเมื่อปี 2556 และเป็นที่มาของชื่อเรือลำนี้ บอกว่า ที่ผ่านมาในห้วงระยะเวลา 1 ปีหลังนี้  ที่ดินซึ่งตนได้กันไว้ประมาณ 4 ไร่ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับเรืออาหรับโบราณ ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของกรมศิลปากรนั้น ปรากฏว่า ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ค่อยได้เข้ามาดูแลเท่าที่ควร โดยเมื่อสอบถามไปว่า เมื่อไหร่จะนำเรือขึ้นมาก็จะได้รับคำตอบกลับมาเพียงแค่ว่า “ยังไม่มีงบประมาณ” ทั้งนี้ตนเองก็รู้สึกเสียใจที่แหล่งโบราณคดีใต้น้ำที่สำคัญของโลก จะกลายเป็นพื้นที่วังกุ้งเหมือนเดิม เพราะทุกวันนี้เมื่อน้ำทะเลหนุนเข้ามา หรือมีฝนตกลงมา น้ำก็จะท่วมขังอยู่ในบ่อจนเต็มพื้นที่ ประกอบกับคันดินรอบๆพื้นที่ 4 ไร่ ที่ตนกันไว้ให้กับกรมศิลปากรนั้น มีลักษณะเป็นคันดินต่ำ เมื่อทางหน่วยงานไม่เข้ามาดำเนินการในการยกคันดินให้สูงขึ้น จึงทำให้เมื่อตนเองปล่อยน้ำเข้าวังกุ้งในส่วนที่เหลือ เพื่อทำการเกษตร น้ำก็จะไหลเข้าไปในพื้นที่แหล่งเรือโบราณด้วยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี มีชาวบ้านและคนที่เข้ามาศึกษาแหล่งเรืออาหรับโบราณ ก็จะมาถามเสมอว่า ทำไมไม่เห็นจุดที่ขุดค้นพบเรือ ซึ่งตนเองก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่าสภาพน้ำได้ท่วมจนมิดไปหมดแล้ว ทั้งนี้จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการปรับปรุงและดูแลสภาพพื้นที่สำคัญนี้ให้ดีเหมือนเมื่อตอนที่ขุดค้นพบใหม่ๆและเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาดูเรืออาหรับโบราณอายุกว่า 1,400 ปี ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

 

tp-เรือ2 tp-เรือ3

เอเซีย  ภาพ / พรเพ็ญ ข่าว